วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตำหนักในวังสวนสุนันทา

อาจมีผู้ทราบกันแต่เพียงว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาตั้งอยู่ในวังสวนสุนันทา อันเป็นชื่อที่มาจากพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสิ้นพระชนม์จากเรือพระที่นั่งล่มกลางลำน้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงพระราชทานนามสวนในวังเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระบมราชเทวีผู้เป็นที่รักยิ่ง ของพระองค์ว่า ?วังสวนสุนันทา?

แต่ที่ไม่ได้เล่าขานกันเท่าใดนักก็คือ วังสวนสุนันทาในอดีตนั้น มีตำหนักซึ่งเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ และเมื่อเวลาผ่านไป บางตำหนักได้ชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าจะเยียวยา จำเป็นต้องรื้อถอนและสร้างใหม่ ในขณะที่บางตำหนัก ยังสามารถรักษาไว้ได้ รอเพียงการบูรณะขึ้นมาอนุรักษ์ไว้ โดยมีสถานที่สำคัญอันควรบันทึกไว้ ๖ ตำหนัก ได้แก่

๑. ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงจุฬารัตนราชกุมารี (๑๗ ธันวาคม ๒๔๑๕ ? ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๗๓) พระราชธิดาองค์ที่ ๗ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดามรกฎ ทรงเชี่ยวชาญด้านกวีนิพนธ์ ฉันท์ และกาพย์กลอน ปัจจุบันคืออาคาร ?จุฑารัตนาภรณ์? ใช้เป็นศูนย์ข้อมูลดนตรีรัตนโกสินทร์ ของภาควิชาดนตรี (คาดว่าจะบูรณะให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๕๕)

๒. ตำหนักพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสัยพิมลสัตย์ (๒๐ ธันวาคม ๒๓๒๔ ? ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙) พระราชธิดาองค์ที่ ๓๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเลื่อน ทรงโปรดการทำอาหาร รอบตำหนักในอดีต รายล้อมไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับ ปัจจุบันคืออาคาร ?พิสมัยพิมลสัตย์? ใช้เป็นศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน

๓. ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงอาทรทิพยนิภา (๒๑ เมษายน ๒๔๓๒ ? ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๑) พระราชธิดาองค์ที่ ๖๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ทรงโปรดดนตรีไทย ทรงมีวงเครื่องสายหญิง ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของสวนสุนันทา และจะทรงเฉพาะที่วังสวนสุนันทาเท่านั้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ ทรงย้ายไปประทับที่สวนนอก เชิงสะพานกรุงธนบุรี และสิ้นพระชนม์ ณ ที่นั้น ปัจจุบันคืออาคาร ?อาทรพิพยนิวาสน์? ใช้เป็นศูนย์ข้อมูลศิลปะรัตนโกสินทร์

๔. ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงศศิพงศ์ประไพ (๒๖ เมษายน ๒๔๒๔ ? ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๗๗) พระราชธิดาองค์ที่ ๓๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาจันทร์ ทรงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทรงใฝ่พระทัยในธรรมะ งานโปรดคือเย็บปักถักร้อยและการแกะสลัก และที่พิเศษคือกีฬากอล์ฟ ปัจจุบันคืออาคาร ?ศศิพงศ์ประไพ? ใช้เป็นศูนย์สุขภาพแพทย์แผนไทย การบูรณะจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕

๕. ตำหนักเจ้าจอมเอื้อน (๒๔๓๐ ? ๒๔๗๐) และเจ้าจอมแถม (๒๔๓๔ ? ๒๔๙๓) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมเอื้อนมีฝีมือในการถ่ายรูป สามารถอัดและล้างรูปได้ด้วยตนเอง ยามว่างจะซ้อมดนตรี สีไวโอลิน ถักนิตติ้งโครเชต์ สอนหลาน ๆ ให้ร้อยมาลัย และเล่นแบตมินตัน ส่วนเจ้าจอมแถม ปัจจุบันคืออาคาร ?เอื้อนอาชว์แถมถวัลย์? เป็นศูนย์ข้อมูลนาฏศิลป์รัตนโกสินทร์ การบูรณะจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕

๖. ตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระยาสุทธาสินีนาถปิยมหาราชปดิวรัดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชนัดดาในรัชกาลที่ ๓ (สิงหาคม ๒๔๐๔ ? ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๒) และยังเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันคืออาคาร ?สายสุทธานภดล? ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ อาทิ นาฏศิลป์ ดนตรี คหกรรม งานฝีมือต่าง ๆ และยังเป็นที่รวบรวมภาพเขียนสีน้ำ ซึ่งเป็นฝีมือของ ?คุณข้าหลวง? ในวังสวนสุนันทา

พระวรวงศ์เธอพระองค์ เจ้าวิมลฉัตร ทรงอธิบายไว้ในหนังสือที่ระลึก ฉบับรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี ๒๕๓๓ ว่า ?ข้าหลวง? เป็นบุตรหลานของเหล่าขุนนาง ข้าราชการ และผู้มีบรรดาศักดิ์ในสมัยนั้น ที่นิยมนำบุตรหลานเข้ามาถวายตัวเป็นข้าหลวงด้วยความมั่นใจว่าบุตรหลานของตน จะได้รับการอบรมให้เป็นกุลสตรี

พระวิมาดาเธอ ฯ ทรงสนพระทัยทางด้านการทำอาหาร ดอกไม้ และพันธุ์ไม้สวยงาม เห็นได้จากภาพวาดที่จัดแสดง ณ ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรม ภายในอาคาร ?สายสุทธานภดล? ทรงสั่งให้คุณข้าหลวงวาดด้วยฝีมือตนเอง และต้องวาดจนเหมือนและสวยที่สุด ซึ่งปัจจุบัน เหลืออยู่ ๑๑๗ ภาพ

พระ ปรีชาอันเป็นที่เลื่องลือของพระวิมาดาเธอ ฯ คือการคิดสูตรโภชนาการใหม่แหวกแนว ทรงปรับเปลี่ยนพลิกแพลงอาหารดังตำนาน ?น้ำพริกลงเรือ? อันเป็นที่รู้จักในปัจจุบันอย่างกว้างขวาง และ ?เม็ดทับทิมลอยแก้ว?

เจ้า จอมหม่อมราชวงส์สดับ (ลดาวัลย์) เล่าว่า มีการจัดงานเลี้ยง ผู้ที่ได้เห็นเม็ดทับทิมลอยแก้วเป็นต้องตื่นเต้น แต่ผู้ที่กุมสูตรนี้ไว้ มีเพียงยายญวนเพียงผู้เดียว เวลาทำ จะไม่ให้ใครมาช่วยหรือดูเลย จึงส่งพระวิมาดาเธอ ฯ ขณะพระชันษา ๙ ขวบ เป็นสายสืบเข้าไปเป็นลูกมือหยิบโน่นจับนี่จนแล้วเสร็จ เมือยายญวนกลับไปแล้ว พระวิมาดาเธอ ฯ ทรงถ่ายทอดออกมาได้ทุกขั้นตอน จนเป็นสูตรทับทิมลอยแก้วในปัจจุบัน

ตำหนักในวังสวนสุนันทายังมีหลาก หลายเรื่องราวของเจ้านายและคุณข้าหลวงที่ เกี่ยวข้องกับ ?พระพุทธเจ้าหลวง? ในฐานะต่าง ๆ อันควรแก่การค้นคว้ามาบันทึกไว้ต่อไปในอนาคต



 Credit : สารคดี sunandhanews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น